Thursday, August 26, 2010

FUEL CELL

อีกไม่นานนัก คือไม่เกินปีคริตศักราช 2004 รถยนต์ที่ใช้ Fuel Cell เป็นต้นกำเนิดพลัง โดยใช้เชื้อเพลิง Hydrogen ก็จะเริ่มบทบาทขั้นต่อมา

อันเป็นการออกสู่ตลาดของรถยนต์ จากผู้ผลิตรถยนต์หลายบริษัท รวมถึงโตโยต้า ในฐานะรถยนต์แห่งเอเชียอีกผู้หนึ่งด้วย



แน่นอน ผมยังไม่ได้รับข้อมูลอะไรจากโตโยต้า หรือจากใครทั้งนั้น ในเรื่อง Fuel Cell นี้



จะว่าเป็นเพราะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก ไม่อยากพูดถึงเพราะมองข้าม Fuel Cell มาหลายทศวรรษก็ไม่ถนัดนัก ด้วยว่าขณะนี้ ไครเลอร์ ฟอร์ด และโตโยต้า ต่างก็หันเข้าหา Fuel Cell อันเป็นเครื่องยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะแก่โลกเลยนี้กันทั้งนั้น



ไม่เหมือนเมื่อตอน Geoffrey Ballard ผู้ก่อตั้งบริษัท Ballard Power System ขึ้นในแวนคูเวอร์เหนือ แคนาดา ที่ไม่มีใครสนใจเขาเลย



จนบัดนี้ Ballard เกษียรแล้ว และไครสเลอร์กับฟอร์ดเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทที่เขาก่อตั้งไว้กันมากมาย น่าจะประมาณ 35 % มีตัวแทนนั่งอยู่ในบอร์ดออฟไดแรกเตอร์ด้วยแล้วในปัจจุบัน ชายชราผู้ถือกำเนิดมาในโลก ตั้งแต่ปี คศ.1932 ใช้ชีวิตสบายสบายอยู่ในบ้านหรู ริมทะเล บน Salt Spring Island ใน British Columbia



ยังก่อนดีกว่านะครับ สำหรับประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของโลกรถยนต์ ที่จะกำลังก้าวเข้ามาเป็นตำนานของพลังงานใหม่



เรามารู้จัก Fuel Cell กันให้ละเอียดขึ้นกว่าที่ผมเคยเล่าให้ท่านฟังไว้ก่อนแล้ว เมื่อปี พศ.2544 หลังจากไปสหรัฐอเมริกากับ Delphi และได้ใกล้ชิดกับ Fuel Cell ที่สุดเป็นครั้งแรกในชีวิตของผมตอนนั้น



และ คงต้องบอกกันก่อน ว่าตอนนั้น Fuel Cell ไม่เหมือนตอนนี้แล้ว



ไม่จำเป็น ที่ Fuel Cell จะติดขัดอยู่กับความใหญ่โต และความร้อนของ Stack ในระดับต่างกันเหมือนก่อน เพราะคราวนี้ Fuel Cell สามารถรับ Hydrogen ไปเป็นพลังงานได้โดยตรง ไม่ต้องสังเคราะห์ขึ้นมาจากน้ำมันเชื้อเพลิง หรือแอลกอฮอล อันเป็นผลให้เกิดความร้อนสูงใน Stack หนึ่ง และเมื่อมาเข้า Fuel Cell จริง ความร้อนในการทำงานของ Fuel Cell มีเพียงประมาณ 80 องศาเซลเซียส จึงยุ่งยากกับการติดตั้งอุปกรณ์ในรถยนต์



มาบัดนี้ ปีเดียวที่ผ่านไป Fuel Cell ก้าวหน้าขึ้นมาก



ไปดูกันครับ ว่าเขาก้าวไปถึงไหนกันแล้ว สำหรับโลกรถยนต์



คุณอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ Fuel cell มาบ้างไม่มากก็น้อยละนะครับ ลงว่าอ่านเรื่องราวที่ผมนำเสนออยู่ในประชาชาติธุรกิจ และมติชน สุดสัปดาห์ มาสักปีสองปีละก็



จากข่าวคราวที่ได้รับมา ผมค่อนข้างแน่ใจว่า อีกไม่นานนัก เราจะมีเทคโนโลยีสำหรับการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้กับรถยนต์ และบ้านเรือนของเรา ได้อย่างประหยัด สะอาด และง่ายดาย โดยอาจจะไม่ต้องพึ่งพาการไฟฟ้าฝ่ายใดทั้งสิ้นก็ว่าได้



แต่เรื่องไฟฟ้าในบ้าน คงไม่ใช่สำหรับคนรุ่นผมในประเทศไทย เพราะน่าจะอีกหลายสิบปีกว่าเราจะก้าวหน้าขึ้นมาเท่าเทียมกับบ้านอื่นเมืองอื่นเขา ไม่ใช่ว่าเราล้าหลังเขาหรอก แต่เป็นเพราะความเต็มใจจะติดสอยห้อยตามคนอื่นของเรานั่นเอง ทำให้เราไม่ได้มองไปถึงความก้าวหน้าในโลกเทคโนโลยี



ก็อย่างที่บอกไว้ ว่าปี คศ.2004 รถยนต์ก็จะพร้อม สำหรับการใช้ Fuel Cell แล้ว บ้านเรา แค่ขอข้อมูลจากบริษัทรถยนต์ยังไม่ได้เลยสักนิด เอาแค่หน้ากระดาษเดียวก็ยังไม่เคยได้รับ



เทคโนโลยีใหม่นี้ มีความสำคัญมากนะครับ เพราะจะเกิดผลประโยชน์กับผู้คนทุกระดับ ทุกครัวเรือน



Fuel Cell เป็นอุปกรณ์ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเคมี ให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยการแปลงไฮโดรเจน กับออกซิเจน เป็นน้ำ เพื่อกำเนิดไฟฟ้า และความร้อนในระหว่างทำปฏิกิริยาทางเคมี



เหมือนกับแบตเตอรี่ ที่สามารถจะอัดประจุไฟเพิ่มเติมกลับเข้าไป เมื่อใช้พลังงานไฟฟ้าแล้ว แต่ Fuel Cell ใช้ไฮโดรเจน กับออกซิเจนในอากาศรอบกายเรานี่แหละครับ แทนการอัดประจุไฟฟ้ากลับเข้าตัวของ Fuel Cell



Fuel Cell จะต้องเผชิญหน้ากับอุปกรณ์แปลงพลังงานอื่นอื่นอีกหลายอย่าง ที่มีอยู่ในโลก หรือได้รับการวางกำหนดไว้ให้เป็นอุปกรณ์แปลงพลังงานสำหรับอนาคต ได้แก่เครื่องยนต์กังหันเทอร์ไบน์ ที่เตรียมการนำมาใช้กับโรงงานไฟฟ้าในอนาคต เครื่องยนต์เผาไหม้ภายในของรถยนต์ เช่นเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล แบตเตอรี่ ที่จะใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น



เครื่องยนต์เผาไหม้ภายในอย่างเครื่องยนต์แกสเทอร์ไบน์ หรือเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลเผาน้ำมันเชื้อเพลิง และใช้แรงดันอันได้จากการขยายตัวของแกสมาแปลงเป็นพลังงานกล แบตเตอรี่เก็บประจุไฟฟ้าโดยการแปลงเป็นพลังงานเคมี แล้วแปลงกลับเป็นพลังงานไฟฟ้าเมื่อต้องการ



ในขณะที่ Fuel Cell สร้างและให้พลังงานไฟฟ้าเป็นกระแสตรง DC หรือ Direct Current ที่สามารถนำไปใช้หมุนมอเตอร์ ให้แสงสว่าง และสร้างพลังงานป้อนให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายทั้งปวงได้



Fuel Cell มีหลายแบบ แต่ละแบบก็ใช้สารเคมีต่างกัน และแยกประเภทออกตามแต่ Electrolyte ที่ใช้



บางแบบ เหมาะสำหรับใช้เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยตรง บางแบบ ก็ใช้กำเนิดไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นพลังงานขนาดย่อม หรือขับเคลื่อนรถยนต์ ที่ก็ยังถือเป็นขนาดย่อมอยู่นะครับ



เมื่อปีก่อน ผมเคยพูดถึง PEMFC และบ่นด้วยว่า นึกไม่ออกว่าหมายถึงอะไร แต่บอกลักษณะได้ถูกต้อง คราวนี้ ก็ขอเรียนไว้ก่อนว่า คำย่อนี้ มาจากคำเต็มว่า Proton Exchange Membrane Fuel Cell ครับ



เชื่อไหมครับ ว่า Fuel Cell มีใช้กันมาตั้งแต่ก่อนหน้าการกำเนิดของเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในแบบลูกสูบ



ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ไม่ว่ากัน แต่คุณหลายคนอาจจะแปลกใจ ที่ Fuel Cell มีใช้กันในยานอวกาศมานานแล้ว ตั้งแต่ยุค 1960s



เพียงแต่ว่า ยังเป็นอุปกรณ์ราคาแพง และใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ถือว่า เป็นเชื้อเพลิงทั่วไปที่หาได้ง่าย คือแม้จะใช้ไฮโดรเจนเป็นหลัก แต่ก็ต้องผสมกับออกซิเจนบริสุทธิ อันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากเกินกว่าจะมาใช้กับรถยนต์



อีกทั้งยังมีปัญหาปลีกย่อยอีกมาก จนทำให้ Fuel Cell เลือนรางอยู่ในความคิดของนักประดิษฐ์



แต่ในที่นี้ ผมจะไม่พูดถึงประวัติความเป็นมาของ Fuel Cell เพราะอยากให้ว่ากันเรื่องเทคนิคล้วนล้วน มากกว่าจะเป็นการเล่าประวัติศาสตร์ของเครื่องยนต์ใหม่ ตั้งแต่ยังไม่เริ่มกำเนิดเป็นเครื่องยนต์ ที่เอาไว้เล่ากันภายหลังเมื่อมีพื้นที่ และเวลาก็ยังได้



ไปเรื่องราวต่อไปของ Fuel Cell ในสมัยนี้เลยดีกว่า



Proton Exchange Membrane Fuel Cell หรือ PEMFC ใช้ระบบง่ายที่สุดสำหรับการสร้างปฏิกิริยาทางเคมี โดยใน Fuel Cell มีขั้วลบ (-) หรือ anode ทำหน้าที่เป็นตัวนำกระแสหรืออีเล็กตรอนที่ได้มาจากการแตกตัวของโมเลกุลของไฮโดรเจน เพื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอก และภายในของขั้วลบนี้ จะทำเป็นเหมือนท่อหรือรางให้ไฮโดรเจนผ่านไปสัมผัสกับแผ่นเร่งปฏิกิริยาทางเคมี หรือแผ่น Catalyst



เหมือนกับแผงหรือโลหะเป็นรูพรุนในแคทาลิติกคอนเวิร์ทเตอร์ของระบบไอเสีย แต่เป็นแผ่นคาร์บอนบางบางเป็นแบบกระดาษ หรือผ้า เคลือบด้วยสารอะไรแพงแพง เช่นทองขาวหรือแพลทตินั่ม



จากนั้นก็มีขั้วบวก(+) หรือ Cathode อันเป็นแผ่นหนาหน่อยเหมือนขั้วลบ และมีรางหรือท่อภายในเช่นกัน อ้อ ท่อหรือรางนี่ เปิดไว้ครึ่งหนึ่งนะครับ ไม่ใช่ท่อน่าจะเรียกรางมากกว่าครับ ทำไว้สำหรับให้ออกซิเจนในอากาศผ่านเข้าไปถึงแคทาลิสต์ หรือแผ่นเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของเรา แผ่นเดียวกับที่ผมบอกว่า เป็น PEM นั่นเอง



ขั้วบวกนี้ ทำหน้าที่รับอีเล็กตรอนกลับจากภายนอก เข้ามาผ่านแคทาลิสต์ เพื่อผสมผสานกลับเข้ากับ Ions ของไฮโดรเจนและออกซิเจน กลายเป็นน้ำ อันเหมือนกับไอเสียจากเครื่องยนต์ Fuel Cell ในที่สุด



และภายในระหว่างขั้วบวกกับลบของ Fuel Cell อยู่ติดกับแผ่นเร่งปฏิกิริยาเคมีนั้น ก็คือ Electrolyte หรือสารตัวนำ อันเป็นตัว Proton Exchange Membrane เป็นสารพิเศษที่ทำได้จากหลายสาร ดูเหมือนกับว่าเป็นแผ่นพลาสติกที่ใช้ห่ออะไรต่ออะไรในครัวเรือนของเราสมัยนี้แหละครับ



Fuel Cell ของเราส่วนใหญ่จะทำงานอย่างนี้ครับ ไฮโดรเจนภายใต้แรงดันสูงไหลผ่านเข้า Fuel Cell สู่ขั้วลบ เข้าไปตามรางที่ผมบอกไว้ในตอนแรก ไฮโดรเจนบริสุทธิ์เข้าสู่ Fuel Cell เพราะแรงดันของตัวมันเองนะครับ



เมื่อโมเลกุลของ H2 เข้าไปสัมผัสกับทองขาวหรือ Platinum บนแผ่นเร่งปฏิกิริยาแล้วก็จะแตกตัวออกเป็น H+ สองอะตอม(ion) และสองอีเล็กตรอน อีเล็กตรอนนี้จะไหลผ่านออกไปสู่เครื่องใช้หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอก Fuel Cell ทางขั้วลบหรือ Anode เช่นไปยังมอเตอร์ไฟฟ้า



ในขณะเดียวกัน ทางด้านขั้วบวก หรือ Cathode ของ Fuel Cell ออกซิเจนก็จะถูกอัดเข้าไปทางรางที่อยู่ในชุดขั้วบวก แล้วไหลผ่านแผ่นเร่งปฏิกิริยา ที่จะกลายเป็นอะตอมของออกซิเจนสองอะตอม อะตอมแต่ละตัวของออกซิเจนจะมีสภาพเป็นประจุลบ (-) ที่มีแรงเหนี่ยวดึงสองอะตอมของไฮโดรเจนจากอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกเข้ามาสู่ Fuel cell เมื่อเข้ามาแล้ว ก็จะผสมกัน กลายเป็นน้ำในที่สุดครับ



ในระยะแรกที่เริ่มกลับมาหา Fuel Cell กันใหม่นั้น Fuel Cell แต่ละตัวจะผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาได้เพียงประมาณเกือบ 1.0 โวลต์ และตอนนี้ ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ ดังนั้น เพื่อให้ได้กระแสไฟฟ้ามากพอสำหรับการใช้งานกับอุปกรณ์ทั่วไป จึงต้องนำเอา Fuel Cell มารวมกันหลายหลาย Cell



นี่เป็นที่มาของคำว่า Fuel-cell Stack



ที่นับวัน ก็จะเล็กลง จนปัจจุบัน มีขนาดไม่ใหญ่กว่าแบตเตอรี่ไปสักกี่มากน้อยแล้ว



และ PEMFC ทำงานที่อุณหภูมิไม่สูงนัก คือประมาณ 80 องศาเซลเซียส หรือราว 170-180 องศาฟาเรนไฮด์



ไม่จำเป็นจะต้องมีตัวแปลงสภาพน้ำมันเชื้อเพลิงแบบธรรมดา หรือแอลกอฮอล ให้เป็นไฮโดรเจนอีกแล้ว และเนื่องจากตัวแปลงสภาพน้ำมันอย่างที่บอกไว้นี่ ทำงานที่อุณหภูมิสูงมาก จึงเป็นอุปสรรค์กับการใช้งาน Fuel Cell อย่างสูง โดยเฉพาะการใช้งานกับรถยนต์

เมื่อในปัจจุบัน เราสามารถเก็บกักไฮโดรเจน และสามารถทำสถานีบริการเติมไฮโดรเจนได้แล้ว ดังเช่นที่ผมได้เรียนไว้ในตอนแรกแรกของเรื่องนี้ ที่บอกว่าเชลล์ทำปั๊มไฮโดรเจน ที่สามารถเติมไฮโดรเจนหนัก 5 กิโลกรัมได้ภายในสองนาที ทุกอย่างก็เห็นเป็นนามธรรมชัดเจนขึ้นสำหรับรถยนต์ Fuel Cell



ยิ่งเมื่อทำเครื่อง Fuel Cell ให้ไม่ต้องใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ อย่างที่จำเป็นเหมือนการใช้กับยานอวกาศ ก็ยิ่งง่ายขึ้นสำหรับการใช้งาน



ความคืบหน้าระดับนี้ ทำให้หวังกันใหม่แล้วละครับ



ว่า Fuel Cell จะมีบทบาททดแทนเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในแบบลูกสูบได้เร็วขึ้น จากที่เคยคาดกันเอาไว้ว่า ต้องราวปี 2010 เป็นต้นไป จึงจะมีรถ Fuel Cell วิ่งกันตามถนนหนทางบ้าง



ผมคิดว่า ไม่น่าจะเกินสองสามปีจากนี้ไป เอาเป็นว่า ภายในปี พศ.2549-50 เราจะเห็นรถยนต์ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง กับเครื่องยนต์ Fuel Cell มาวิ่งอยู่บนถนนหลวงของต่างประเทศหนาตา



และในบ้านเรา ก็อาจจะมีเข้ามาแล้วในช่วงเวลานั้น ก็เป็นได้


-- ธเนศร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา --

MICHELIN PILOT SPORT 3 อย่าดูที่หน้าตามีดีกว่าที่คิด By :premsak pianpanich

เอาไงดี คือมันคิดไม่ออกว่าจะเริ่มเขียนเรื่องที่ไปทดสอบยางตัวใหม่ของมิชลินแบบไหนดี ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองอันร้อนแรงไม่แพ้ไปกันกับอุณหภูมิที่ทะลุไปเกินกว่า40องศาในระหว่างการรอทดสอบที่สนามแก่งกระจาน ตอนแรกก็ว่าจะกลับมาแล้วรีบเขียนลงโดยไวมิเช่นนั้นแล้วต้องรอไปอีกซักพัก กว่าจะได้เริ่มก็ล่วงเลยมาถึงสัปดาห์เพราะมีงานอื่นเข้ามาก่อนไม่ว่างานราษฎร์งานหลวงหรือจะงานไหนโดยเฉพาะงานมอเตอร์โชว์ แต่ไม่เป็นไรครับผมกับคุณโอได้เล่าเรื่องราวที่ไปทดสอบแล้วทางเอฟ.เอ็ม.89.5ในวันศุกร์ช่วงเวลา23.00-24.00น. คราวนี้ก็เหลือแต่ทางเว็บไซท์แห่งนี้เท่านั้น อย่างที่ผมเคยบอกไปว่าผมได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ที่ให้ผมได้ไปร่วมทดสอบต่างๆในวงการยานยนต์ หรือการมาจัดรายการวิทยุนั้นผมก็ตั้งใจทำอย่างสุดความสามารถโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไร ไม่เหมือนบางคนที่ชอบเอาผู้ที่เคยมีพระคุณไปด่าลับหลังคิดเองเออเองว่าเขาจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เพราะมีคนแบบนี้ไงครับที่ไม่ลืมตามองดูความเป็นจริงว่าเขาทำอะไรเมื่อไรแล้วตัวเองเป็นยังไง ขนาดที่ว่าเคยประกาศว่าจะเลิกเข้าเว็บนั้นเลิกเล่นเว็บนี้แล้วเป็นไงครับ ก็กลับมาเล่นทุกครั้งจนหรือบางทีก็บอกว่าไม่ได้เข้ามามีคนส่งลิ้งค์ไปให้อ่าน โถ่!อย่ามาพูดเลยดีกว่า ตั้งกฎอย่างนั้นอย่างนี้ในบ้านตัวเองแล้วไปโพสลิ้งค์ตัวเองในบ้านคนอื่นในตอนแรก เฮ้อเหนื่อยใจกับคนที่เรียกร้องว่าไม่ยุติธรรมจะอย่างนั้นอย่างนี้ จะฟ้องก็ไม่ฟ้องผมว่าเอาซะทีซิครับจะได้รู้เรื่องรู้ราวจบๆกันไป คุณก็บอกว่าคุณเป็นสื่อแต่ข่าวที่ไปเอาของเขามาลงแม้ว่าลงเครคิตก็เถอะเพื่อนพ้องน้องพี่กันทั้งนั้นกว่าเขาจะได้มามันก็เหนื่อยหรือต้องใช้ความสามารถมาถึงจะได้ข่าวมา คุณเคยบอกหรือไปขอเขาบ้างรึเปล่า ข่าวเมืองนอกนี่ไม่ว่าแต่ข่าวในนี่แหละทีมงานก็มีไปเอาของเขามาทำไม หรือไม่มีปัญญาทำข่าวในประเทศเก่งนักเก่งหนาไม่ใช่เหรอ พอพอพอเดี๋ยวจะยาวหยุดพาดพิงหรือกล่าวถึงซะที่เถอะ ครั้งสุดท้ายที่ผมกล่าวถึงนี่มันนานแล้วนะ ใครกันแน่ที่ควรหยุด หลายคนก็บอกอย่าไปยุ่งเลยผมหยุดและปล่อยมานานแล้วครั้งนี้ขอซะทีหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่กล่าวถึง มิเช่นนั้นแล้วคราวหน้าจะแฉให้หมดว่าอะไรเป็นยังไงมายังไง

หลังจากครั้งสุดท้ายที่ได้ไปทดสอบยางมิชลินคือตัว Primacy LC http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=354 นั้นก็เกือบจะครบปีพอดี คราวนี้ทางมิชลินก็ส่งเทียบเชิญให้ไปทดสอบยางตัวใหม่ของเขานั้นก็คือ มิชลิน ไพลอต สปอร์ต 3 ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นยางประเภทไหนซึ่งมีความแตกต่างและจุดเด่นที่ไม่เหมือนกับตัวเดิมแน่นอน การทดสอบก็ไม่ได้เป็นแบบเดิมด้วย ยางสปอร์ตก็ต้องทดสอบแบบสปอร์ต ครั้งนี้เลยจัดให้มาทดสอบกันถึงแก่งกระจานเซอร์กิต เรามาดูกำหนดการกันดีกว่า

ทีแรกนึกว่าจะมีแค่สามสถานีแต่ที่ไหนได้มีข้างหลังอีก

สรุปว่ามี 6 สถานี เป็นการทดสอบประสิทธิภาพซะ 3 อีก 3 เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต ผมกับคุณโออยู่ในกลุ่ม A สีเขียว ไปเริ่มการทดสอบเลยดีกว่า

สถานีที่ 1 การทดสอบประสิทธิภาพการเข้าโค้งและเบรกบนพื้นเปียก

ในการทดสอบจะมีรถอยู่สองคันเป็นรุ่นเดียวกันโดยให้ขับเปรียบเทียบกันคันละสองรอบ โดยคันแรกใส่ยางมิชลิน ไพลอต สปอร์ต 3 อีกคันใส่ของคู่แข่งและให้ขับแบบใกล้เคียงกันมากที่สุด

โดยจะมีทางโค้งที่ราดน้ำไว้กับขับผ่านบนพื้นเปียกหลังจากพ้นทางโค้งมาแล้วจะเจอทางตรงให้กดคันเร่งเต็มที่ เมื่อถึงจุดที่กำหนดให้เบรกเต็มแรงจนรถหยุดโดยใช้ความเร็วประมาณ70 กม./ชม.เพื่อวัดทางระยะเบรกเปรียบเทียบกัน

ผลออกมาปรากฏว่า ในการเข้าโค้งนั้น มิชลิน ไพลอต สปอร์ต 3 ทำได้ดีกว่าสามารถควบคุมพวงมาลัยได้ดีไม่มีการดื้อโค้ง ส่วนระยะเบรกก็ทำได้สั้นกว่า

สถานีที่ 2 การขับขี่ในชีวิตจริง

สถานีนี้จะเป็นการขับรถออกไปตามทางที่ทางทีมงานจัดไว้บริเวณเขื่อนแก่งกระจาน ระยะทางประมาณ 40กิโลเมตร โดยจะมีรถสมรรถนะสูงได้แก่ ซูบารุ มินิ และ บีเอ็บดับเบิ้ลยู รวมแปดคัน โดยผมกับคุณโอได้ BMW Z4 sDrive 2.3 เราตั้งเป็นขบวนขับเรียงกันไปทั้งแปดคัน เส้นทางที่เราขับผ่านเรียกได้ว่ามีทั้งทางคดเคี้ยว ขุรขระ ทางลาดยาง ทางชัน เรียกได้ว่าเกือบครบทุกสภาพเลยก็ว่าได้ เท่าที่ได้ลองนั้นคงบอกได้ว่า การยึดเกาะนั้นทำได้ดีให้ความมั่นใจกับประสิทธิภาพของยาง

เสียงยางนั้นมีรบกวนอยู่เหมือนกันในช่วงการขับแบบเรื่อยๆแต่คงไม่น่าห่วงเพราะยางประเภทนี้เน้นในเรื่องสมรรถนะในการยึดเกาะมากกว่า ก็ต้องแลกกันหรือไม่แน่ในอนาคตทางมิชลินคงจะทำมาในแบบที่เงียบและมีสมรรถนะสูงก็เป็นได้หลังจากถึงจุดพักรถแล้วเปลี่ยนให้คุณโอขับต่อ ผมก็มานั่งบ้างนั่งไปนั่งมาก็กลับเข้ามาสู่สนามอีกครั้งเพื่อพักรับประทานอาหารเที่ยง แล้วรอทดสอบต่อในรอบบ่าย

สถานีที่ 3 การขับขี่ในสไตล์สปอร์ต

โดยในสถานีจะมีรถให้ลองขับอยู่สองคันโดยใส่ยางมิชลิน ไพลอต สปอร์ต 3กับของอีกยี่ห้อ โดยวิธีการนั้นเน้นอยู่ที่การควบคุมพวงมาลัย โดยให้เปรียบเทียบว่าอันไหนควบคุมได้ดีกว่ากัน โดยจะให้ขับแบบขึ้นและลงเนินที่เป็นทางโค้งโดยไม่ต้องใช้เบรกเลย

ให้ใช้เร่งไปถึงความเร็วประมาณ 60 กม. / ชม.แล้วปล่อยคันเร่งให้รถไหลเข้าโค้งไป ซึ่งเท่าที่ได้ลองนั้นเจ้ามิชลิน ไพลอต สปอร์ต 3ทำวงเลี้ยวได้แคบกว่าและรู้สึกว่าสามารถหมุนพวงมาลัยเพิ่มเข้าไปอีก ให้ความรู้สึกที่เป็นสปอร์ตมาก

หลังจากนี้ก็จะเป็นสถานีที่ผมเรียกว่าสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตอีกสามสถานีคือ การขับรถแข่ง GT-5 คันสีน้ำเงินนี่แหละครับ ทางมิชลินบอกว่าอยากให้ได้อารมณ์แบบการขับรถแข่งจริงๆจึงจัดคันนี้มา แต่ก่อนจะขับนั้นก็ต้องมีการเตรียมตัวกันเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นการใส่ชุดแข่งจริงๆหรือแม้กระทั่งรองเท้าสำหรับการขับรถแข่งซึ่งจะมีเฉพาะเลย ชุดนี้ก็ต้องกันไฟได้ระดับนึงเลยทีเดียว เปลี่ยนชุดเสร็จก่อนขับนี่ก็ต้องใส่หมวกกันน็อคด้วย

ถึงอยากจะบอกว่าร้อนมากครับทั้งอากาศที่ร้อนอยู่แล้วและยังชุดเข้าไปอีกไม่ไหวครับ การขับนั้นขับค่อนข้างยากทีเดียวและยังไม่ชินกับรถ แต่พอเริ่มคล่องแล้วและกำลังสนุกก็หมดรอบซะแล้ว ฮ่าฮ่า ได้ความรู้สึกแปลกดีไปอีกแบบทั้งการปีนเข้าปีนออกจากรถเพราะมันไม่มีประตูครับท่านผู้อ่าน

ต่อจากนั้นก็มาสู่สถานี PIT CHALLENGE เป็นการจำลองการเปลี่ยนยางของรถ F1 กันว่าใครจะทำได้เร็วกว่าโดยจะมีอุปกรณ์คือปืนลม ให้ยิงน็อตล้อออกถอดยางเก่าเปลี่ยนยางใหม่ใส่เข้าไปแล้วใช้ปืนลมยิงน็อตเข้าไปให้แน่นใครทำได้เร็วกว่าถือว่าชนะ เล่นกันสนุกๆพอขำๆ ผลออกมาผมกับคุณโอทำได้ดีเกินคาดครับ เป็นผู้ชนะของกลุ่มครับ 555

สถานีสุดท้าย ไม่รู้ว่าเป็นธรรมเนียมของการทดสอบยางไปแล้วรึเปล่าว่าจะต้องมีการนั่ง HOT LAB ในสนาม โดยมีนักขับมืออาชีพขับให้นั่งวนรอบสนามโดยมีรถสองคันขับไล่กันสนุกไปอีกแบบ ใครไม่เคยมีโอกาสก็ไปลองนั่งดูนะครับว่านักขับมืออาชีพเขาขับกันยังไง

ทีนี้เรามาดูข้อมูลที่ได้ให้มาแล้วกันครับ ยางมิชลิน ไพลอต สปอร์ต 3 นั้น เป็นยางที่เกาะถนนเป็นเยี่ยม สามารถยึดเกาะได้ดีกว่าแม้ขับขี่บนทางโค้งที่เปียกลื่น และสามารถเบรกได้ระยะสั้นกว่ายางรุ่นก่อนถึง 1.1 เมตร ยางรุ่นใหม่นี้ยังสามารถให้การบังคับควบคุมที่แม่นยำสูงสุด เพื่อความสนุกและมั่นใจในทุกการขับขี่ ยางสมรรถนะสูงรุ่นใหม่นี้ให้ “สนุกขึ้นทุกเส้นทาง แม่นยำกว่าในทุกโค้ง” ยางรุ่นนี้ยังแตกต่างจากยางสปอร์ตทั่วๆ ไป ตรงที่สามารถพัฒนาคุณสมบัติในการประหยัดน้ำมันได้ดีขึ้น และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานอีกด้วย มิชลินใช้เทคโนโลยี่ขั้นสูงสุดในการพัฒนารูปแบบและคุณภาพของยาง เช่น การใช้เนื้อยางพิเศษแบบ Sport Power Compound, the Anti Surf System และหน้ายางอัจฉริยะแบบแปรผัน (Programmed Distortion tire architecture) ซึ่งเทคโนโลยี่ทั้งหมดนี้ ได้รับการพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยี่ของมิชลิน

ยางมิชลิน ไพลอต สปอร์ต 3 นั้นได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันให้ดีขึ้น โดยคงไว้ซึ่งสมรรถนะด้านความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งประโยชน์ที่ได้จะไม่เพียงแต่สำหรับผู้ขับที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะยางรุ่นนี้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อีกด้วย ในขณะเดียวกัน นอกจากการประหยัดพลังงานแล้ว ยางมิชลิน ไพลอต สปอร์ต 3 ยังมีอายุการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นอีกถึง 10% เมื่อเทียบกับยางมิชลิน ไพลอต สปอร์ต พีเอส 2 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยางที่มีอายุการใช้งานยาวนานที่สุดรุ่นหนึ่งในยางประเภทเดียวกัน** ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยลดการใช้วัตถุดิบ ซึ่งหมายความว่าเราสามารถผลิตยางในจำนวนที่น้อยลง แต่ยังได้ระยะทางการใช้งานเท่าเดิม ส่งผลให้มีจำนวนยางที่จะต้องถูกเปลี่ยนใหม่ และทิ้งไปในที่สุดน้อยลงเพื่อให้ยางมิชลิน ไพลอต สปอร์ต 3 รุ่นใหม่มีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่ดีขึ้นบนถนนเปียกลื่น และมีความแม่นยำทุกการบังคับบนถนนแห้ง และอายุการใช้งานนานกว่า ทีมวิจัยและพัฒนาของมิชลินจึงได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่รวมความสุดยอดแห่งเทคโนโลยี่ทุกด้านไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านวัสดุ รูปทรง และโครงสร้างของยาง

อันดับแรก มิชลินได้พัฒนาสูตรเนื้อยางพิเศษ Sport Power Compound ซึ่งเป็นนวัตกรรมแรกในโลกที่สามารถรวมคุณสมบัติสามประการที่กล่าวมาแล้วได้ในหนึ่งเดียว ซึ่งเนื้อยางชนิดนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถเกาะถนนได้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้บนสภาพถนนที่เปียกลื่น

ต่อมา มิชลินได้คิดค้นระบบ Anti Surf System ที่เพิ่มมุมโค้งบริเวณไหล่ยาง ซึ่งช่วยระบายน้ำออกด้านข้าง ได้มากยิ่งขึ้น ท้ายสุด มิชลินได้คิดค้น หน้ายางอัจฉริยะแบบแปรผัน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำในการบังคับ และยืดอายุการใช้งานของดอกยางในเวลาเดียวกัน

ยางมิชลิน ไพลอต สปอร์ต 3 นั้นมิชลินวางอยู่ไหนกลุ่มไหนตามรูปเลยครับ

สุดท้ายก่อนจากจะบอกว่าใครหายางสำหรับสมรรถนะสูงก็ไปลองดูกันตามร้านยาง โดย ยางมิชลิน ไพลอต สปอร์ต 3 จะวางจำหน่ายทั้งหมด 24 ขนาด ตั้งแต่ 15-19 นิ้ว ภายในปี 2553



ซีรี่ส์ ขนาด

35 255/35 ZR 18

265/35 ZR 18

275/35 ZR 18

40 245/40 ZR 17

225/40 ZR 18

235/40 ZR 18

245/40 ZR 18

245/40 ZR 19

45 205/45 ZR 17

215/45 ZR 17

225/45 ZR 17

235/45 ZR 17

245/45 ZR 17

225/45 ZR 18

50 195/50 R 15

205/50 ZR 16

225/50 ZR 16

205/50 ZR 17

215/50 ZR 17

55 185/55 R 15

195/55 R 15

205/55 ZR 16

215/55 ZR 16

225/55 ZR 16





คงจะจบเรื่องไว้เท่านี้ แล้วเราก็ไป”ขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ดีกว่า”กับมิชลิน พบกันใหม่ครั้งหน้าครับ

########################################################################################เรื่อง เปรมศักดิ์ เพียรพานิชย์

ภาพ สารฑูล สักการเวช

Test Drive Mitsubishi Lancer EX Once again By:Thunyaluk Seniwongs

ทีมงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทมิตซูบิชิมอเตอร์ประเทศไทย ได้จัดรถไปให้คุณธเนศร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ได้ลองขับรถมิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีเอ็กซ์คันนี้ โดยมีคุณกุ้งซึ่งอยู่ฝ่ายการตลาดของมิตซู นำรถไปส่งมอบให้ เพราะบ้านอยู่ใกล้กันที่สุด

คุณกุ้งเล่าว่าขับรถมาทางด้านคลองหลวงและผ่านมาทางถนนวงแหวนต้องผ่านด่านเก็บเงิน คนที่ด่านชมว่า “สวยจังเลย” ฉันก็ถามไปว่า”เขาชมคุณกุ้งหรือคะ” คุณกุ้งตอบว่า “ไม่ใช่ค่ะ เขาชมรถ” เราก็เลยหัวเราะชอบใจกัน

แล้วฉันก็ได้สัมผัสรถคันนี้ ครั้งแรกที่ได้สัมผัสช่างละมุนละไมอะไรเช่นนี้ เมื่อได้จับพวงมาลัยของรถ ก็เหมือนผิวเนียนๆของผู้หญิงนั่นละคะ คุณผู้ชายอาจจะสงสัยว่าแล้วผู้ชายผิวไม่เนียนหรือไง นั่นนะซีนะ เมื่อนั่งประจำที่คนขับ ก็ปรับเก้าอี้ให้สูงขึ้นด้วยการใช้มือโยกตรงด้านข้างของเก้าอี้ เพื่อให้นั่งในระดับที่รู้สึกว่าสบายและคล่องตัวในการขับรถ เลื่อนเก้าอี้ให้ใกล้หรือไกลก็เป็นแบบ manual มือเหมือนกัน

ข้อมูลนี้อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=469 และhttp://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=426

Mitsubishi Lancer EX คันนี้ เป็นรุ่น เครื่องยนต์ 1.8 Gls เบาะหนังเท่าที่ดูจากสเปคเบาะหนังจะเป็นรุ่น Ltd ถ้า Gls ธรรมดาจะเป็นเบาะผ้า เครื่องยนต์ ขนาด 1.8 ลิตร 139 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที

แรงบิด 172 นิวตันเมตรที่ 4,200 รอบ/นาที เกียร์ cvt 6 สปีด พร้อม sport mode เปลี่ยนเกียร์แบบmanual ได้

เมื่อได้ขึ้นขับครั้งแรกขับออกจากซอยต้องหยุดรถก็เหยียบเบรกโดยความพลั้งเผลอแรงไปหน่อย เบรกหยุดกึกทันใจ คราวต่อไปเลยต้องเหยียบให้เบาหน่อย อย่างที่เคยพูดไว้แล้วว่ารถสมัยนี้ เบรกได้ดั่งใจ

รถ คันนี้เป็นรถแบบ Flexible Fuel Vehicle หรือ FFV คือรองรับน้ำมันได้ตั้งแต่เบนซินธรรมดา แก๊สโซฮอลล์ E 10 ,E 20 จนถึง E 85

ได้ขับรถคันนี้ในกรุงเทพฯอยู่สองสามวัน ขับครั้งแรกเมื่อเหยียบคันเร่งลงไปแบบค่อยๆเหยียบจะรู้สึกเหมือนมีช่องว่างระหว่างคันเร่งไม่ปรู๊ดปร๊าดทันที แต่เมื่อได้มีโอกาสขับไปต่างจังหวัดที่ถนนโล่งๆพอที่จะทำความเร็วได้ ก็พบว่า ถ้าเราออกตัวแล้วเหยียบเต็มที่ ความเร็วและความแรงจะมาอย่างต่อเนื่องเลยล่ะ

ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปที่ บ้านซับเศรษฐีที่เขาใหญ่ เพราะลืมของไว้ที่นั่นออกเดินทางก็บ่ายวันศุกร์ และได้แวะกินข้าวกันที่ร้านข้าวแกงบ้านสวน เจ้าแรก ร้านนี้ไม่ใหญ่เหมือนสาขาสอง แต่ฉันว่าข้าวแกงร้านแรกอร่อยกว่านะ

มีเรื่องจะเล่าให้ฟังก็คือว่า เมื่อกินข้าวเสร็จแล้วกลับมาที่รถ มองไปที่พื้นรถที่เป็นพื้นดิน ก็ตกใจว่าน้ำเจิ่งเต็มพื้นไปหมดทั้งที่ตอนจอดครั้งแรกไม่มี ฉันก็ก้มๆเงยๆจะดูใต้ท้องรถ คุณธเนศร์กลับจากเข้าห้องน้ำมาก็ถามว่า “มีอะไรหรือ” ฉันก็ตอบว่าไมรู้น้ำไหลมาจากไหน ซักพักคุณธเนศร์บอกว่า “นั่นไง น้ำไหลมาจากบนหลังคา” ไหลมาลงตรงด้านข้างรถพอดี ค่อยโล่งอกไปที นึกว่าจะเจอปัญหาซะอีก

แล้วเราก็ออกเดินทางไปเติมน้ำมัน แก๊สโซฮอลล์ E 20 ที่ใกล้ๆกับสถาบันวิจัยของ ปตท. ทั้งๆที่อยากจะเติม E 85 แต่ถนนสายนี้ไม่มีให้เติมค่ะ คงต้องรอไปก่อน เท่าที่ทราบ ปั๊มที่มี E85 ของ ปตท ในกรุงเทพฯ มีอยู่สองแห่ง เติมน้ำมันเต็มถังแล้วก็ออกเดินทางกันต่อเลย

อัตราเร่งแซงของรถคันนี้ดีมากเลย กำลังของรถจะมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่เราเหยียบคันเร่งลงไป ทำให้เกิดความมันในอารมณ์ในการขับรถคันนี้

ก็ไม่ทราบว่าทำไมขับรถคันนี้แล้วถึงได้เจอพวกที่ชอบประลองความเร็ว ก็ลองเล่นๆกันซักหน่อยก็ไม่เสียหายอะไร พอทิ้งเขาห่างก็พอใจแล้ว กลับมาใช้ความเร็วในระดับปกติ

แวะไปเอาของที่ลืมไว้ที่บ้าน เสร็จแล้วก็แวะไปงานศพคุณแม่ของน้องที่ดูแลบ้านให้ที่บ้านซับพลู กว่าจะกลับก็มืดค่ำ ก็เลยได้ลองขับรถในบรรยากาศกลางคืน

ไฟส่องสว่างดีมาก เห็นถนนชัดเจนเลยไม่ว่าจะเป็นไฟใหญ่หรือไฟสูง

หน้าปัดของรถคันนี้เป็นจอเรืองแสงแบบ LED ตอนกลางคืนเมื่อเปิดไฟก็ดูสวยทีเดียว

หน้าเหมือนแมวเลยนะเนี่ย หรือนี่เป็นแมวนางกวัก ใครได้ลองนั่งลองขับแล้วอาจจะตัดสินใจซื้อเลย

ฉันเป็นคนไม่ชอบขับรถตอนกลางคืน เพราะมีความรู้สึกอึดอัดกับความมืดรอบข้าง แต่คุณธเนศร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยาที่นั่งไปด้วยกันบอกว่า ชอบขับรถตอนกลางคืนเพราะขับง่ายกว่าตอนกลางวัน

อย่างเช่นทางโค้งคดเคี้ยว ตอนกลางวันเราจะแซงค่อนข้างยาก แต่ตอนกลางคืนมองได้จากแสงไฟของรถ ก็จริงๆด้วย และตอนกลางคืนเท่าที่สังเกตดูจากรถรอบข้าง การขับรถจะช้ากว่าการขับตอนกลางวัน ตัวฉันเองก็เป็นอย่างนั้น

เมื่อได้มาขับช่วงเส้นทาง 2235 ที่จะไปบ้านซับเศรษฐี ซึ่งมีทางโค้งหลายโค้ง รถก็เกาะโค้งได้ดีจริงๆด้วยช่วงล่างแบบอิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริงพร้อมเหล็กกันโคลง และช่วงล่างหลังแบบมัลติลิงค์พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ช่วงล่างไม่แข็งหรือนุ่มนวลจนเกินไปกำลังดีทีเดียว และหนึบหนับดีจัง เกาะถนนดีมากให้ความรู้สึกที่มั่นใจ

Mitsubishi Lancer EX คันนี้อย่างที่บอกไว้ว่าเป็นเกียร์ cvt 6 สปีด พร้อม sport mode เปลี่ยนเกียร์ เป็นแบบ manual ได้ แต่อยากจะบอกว่าตัวฉันเองเวลาขับรถไม่ค่อยจะสนใจตัว sport mode จะปล่อยให้เกียร์ทำงานไปโดยอัตโนมัติ อย่างเวลาเร่งแซงถ้าเรารู้ว่าจะต้องแซงเราก็ต้องเตรียมตัวก่อนอยู่แล้วก็เหยียบคันเร่งเข้าไป ก็ไปได้แล้ว แต่ถ้ามัวห่วงทั้งเรื่องการเปลี่ยนเกียร์ช่วย ถ้าไม่ใช่รถที่คุ้นเคยก็ต้องมองหน้าจออีกว่าอยู่ที่เกียร์ไหน ตัวฉันไม่มีสมาธิพอขอยอมรับ

เกียร์ cvt ให้กำลังมาอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าถ้าเหยียบในครั้งแรกรู้สึกเหมือนไม่มีกำลัง ทั้งที่กำลังของรถรออยู่ แต่ถ้ากดคันเร่งไปเต็มที่จะรู้สึกว่าความแรงมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าเคยขับเกียรออโตแมติค แบบธรรมดามาจะรู้สึกถึงความแตกต่างในการขับครั้งแรก แต่ซักพักก็จะคุ้นเคย

คุณธเนศร์บอกว่าให้ลองเหยียบไปที่ ความเร็ว 2,000 รอบแล้วให้เหยียบนิ่งไว้ จะเห็นว่าความเร็วจะขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องขอบอกว่าเท้าไม่นิ่งพอ ก็เลยไม่ได้ทำ ถ้าเป็นคุณธเนศร์จะทำได้ เพราะเคยเห็นคุณธเนศร์สามารถรักษาความเร็วในแต่ละรอบได้นิ่งๆ และเป็นเวลานานทั้งในรอบต่ำๆและรอยสูง โดยไม่ต้องใช้ cruise control

เก้าอี้ที่นั่งก็โอบกระชับตัวดี นั่งสบาย แต่ท่านที่จะเอี้ยวตัวไปหยิบของที่เบาะหลังคงต้องระวังหน่อยนะคะเพราะเบาะที่โอบกระชับผู้นั่งอาจจะทำให้ท่านไหล่เคล็ดได้ จริงๆแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรมากมายก็แค่เตือนไว้แค่นั้นเอง เพราะเวลาเอี้ยวตัวไหล่จะไปเบียดกับส่วนนูนของเบาะ พบกับตัวเองเลยมาเล่าสู่กันฟัง แต่ถ้าปรับเบาะนั่งให้เอนลงไปก็โอเคไม่มีปัญหาอะไร

ได้มีโอกาสอยู่กับรถคันนี้หลายวันทีเดียว หลังจากกลับจากเขาใหญ่ วันรุ่งขึ้นก็เดินทางไปพัทยา ดูซีคะ ชีพจรลงเท้าแค่ไหน ยังสงสัยกับคำว่าชีพจรลงเท้าจัง แต่ช่างมันเถอะนะ

คราวก่อนเคยบอกว่าการเดินทางจากมอเตอร์เวย์ไปพัทยาถนนวิ่งได้สะดวก แต่ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้วสักเดือนที่ผ่านมา คือถ้าจากกรุงเทพฯ ผ่านด่านพานทองไปซักพัก ก็จะเจอทางแยกไปพัทยา เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าไป หรือ ถ้ามาจากพัทยา ก็จากพัทยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนก่อนจะบรรจบเข้ามอเตอร์เวย์ ตอนนี้วิ่งค่อนข้าง ลำบาก เพราะถนนที่ทำใหม่มี 4 เลน ตอนนี้ทั้งรถบรรทุกและรถบัสจะวิ่ง 2 เลน บางทีก็วิ่งมากินเลนที่3 ด้วยทั้งที่ควรวิ่งเลนซ้ายเลนเดียว ทำให้รถยนต์ส่วนตัววิ่งและแซงกันค่อนข้างลำบาก เพราะทุกคันพยายามมาวิ่งเลนขวากันหมด

ตอนแรกฉันก็ไม่ได้สังเกตุหรอก อันนี้ก็เกิดจากความช่างสังเกตของคุณธเนศร์ค่ะอีกแล้ว อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงนี้ตำรวจต้องไปทำงานอย่างอื่น คนขับรถก็เลยขับกันตามสบายอยากทำอะไรก็ทำ

ทีนี้มาพูดถึงรถคันนี้ต่อดีกว่า ก่อนจะเดินทางไปพัทยา เราก็แวะเติมน้ำมันกันก่อน เดินทางไปเติมน้ำมัน E 85 ว่าจะไปเติมที่ปั๊ม ของ ปตท. แต่ผ่านถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา ก็เลยไปเติม E 85 ที่ปั๊มของบางจาก แล้วก็ออกเดินทางไปพัทยา

จากเดิมที่ใช้ E 20 แล้วมาเติม E 85 ขับไปไม่รู้สึกถึงความแตกต่างเลยค่ะ อัตราเร่งต่างๆก็ยังดีเหมือนเดิมไม่ได้ตกลงเลย ราคาน้ำมันก็ถูกลงด้วย แต่ก็หาที่เติมยากเพราะสถานีบริการยังมีน้อย ต่างจังหวัดนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย มีแค่ E 20 ก็ดีแล้ว

อัตราเฉลี่ยการใช้น้ำมัน อยู่ที่ 14.15 กม./ลิตร ความเร็วที่ใช้อยู่ที่ 120 140 160 และสามารถไปได้จนถึง 180 โดยไม่รู้ตัว

ภายในห้องโดยสารกว้างขวางทีเดียวไม่ว่าจะเป็นช่วงด้านหน้าหรือด้านหลัง เหลือที่เยอะเลย

วัสดุที่ตกแต่งภายในสีสันก็ดูเรียบๆดี แผงที่หน้าปัดทั้งแผงเป็นสีออกเทาๆเงาๆมีลวดลายอยู่ในตัว ก็ดูสวยดี แต่เห็นบางท่านไปเคาะดูแล้วบอกว่ามันกรอบแกรบ ฉันนี่งงมากๆเลย เราต้องเคาะกันขนาดนั้นเลยหรือเพื่อที่จะจับผิดรถกัน

ที่เก็บของท้ายรถกว้างขวางทีเดียว แต่เมื่อจอดรถในที่ค่อนข้างแคบ ถ้าคุณจะพับกระจกต้องใช้มือพับเพราะไม่มีระบบเปิดปิดกระจกอัตโนมัติ ตัวฉันก็คลำหาอยู่พักใหญ่ทีเดียว

ที่นั่งหลังนั้น เมื่อผู้ขับข้างหน้าเลื่อนที่นั่งจนพนักพิงมาอยู่ระดับเสากลางรถแล้ว ก็ยังมีพื้นที่เหลือสำหรับวางขาอีกมาก ทั้งที่คุณจะวางตัวลงบนเบาะนั่งได้เต็มตัว

คือพูดง่ายง่ายว่า ที่นั่งตอนหน้าและตอนหลังของรถคันนี้ ให้พื้นที่ไว้มากกว่ารถอื่นที่อยู่ในขนาดเดียวกันเกือบทั้งหมดก็ว่าได้ แต่อาจจะดีกว่ารถใหญ่กว่าบางรุ่นเสียอีก

รถคันนี้ก็เป็นรถที่น่าใช้คันหนึ่งในรถเครื่องยนต์ขนาดเดียวกัน

รูปลักษณ์ภายนอกก็สวยใช้ได้ทีเดียวและเป็นรถที่แต่งขึ้นด้วย ผู้หญิงใช้ก็ดูเป็นสาวเปรี้ยวหน่อย

ส่วนผู้ชายไม่ต้องพูดถึงเพราะเหมาะอยู่แล้วยิ่งถ้าคุณชอบ Evo อยู่แล้วก็ยิ่งตัดสินใจง่ายขึ้น

---------------------------------------

The Real User ขับมาแล้ว เลยอยากให้รู้ Ford Focus 2.0 Benzine ;By :Thunyaluk Seniwongs

มีท่านผู้ฟังทางรายการวิทยุ Fm 89.5 ซึ่งออกอากาศเวลา 23.00 – 24.00 น.ทุกวันจันทร์-ศุกร์ และทาง Am 1269 ซึ่งออกอากาศเวลา 16.00 – 17.00 น. ทุกวันจันทร์- อาทิตย์ มักจะถามเข้ามาเป็นประจำเมื่อท่านต้องการซื้อรถ ไม่ว่าจะเป็นรถเก่าหรือรถใหม่ว่ารถที่ท่านสนใจเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่องของสมรรถนะ อะไหล่แพงมั้ย กินน้ำมันขนาดไหน



ซึ่งถ้าเป็นรถใหม่เราก็ได้ลองขับกันอยู่บ่อยๆแม้จะไม่ทุกรุ่น ก็คงพอที่จะบอกท่านได้ แต่รถใช้แล้วนี่สิ ก็ต้องอาศัยจากผู้ใช้รถมาบอกเล่าให้ฟัง ก็เลยเกิดคอลัมน์นี้ขึ้นมา ทั้งที่จริงๆแล้วเรามีคอลัมน์นี้มาตั้งนานแล้วนานมากๆ แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจังเสียที

ชื่อคอลัมน์ก็ได้มาจากพี่น้องเพื่อนฝูงที่ไปบ้านซับเศรษฐี ที่เขาใหญ่เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านไป มาช่วยกันตั้งชื่อให้ ก็หลายชื่อนะคะ แต่ชื่อที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดก็คือ “The Real User” ที่ตั้งโดย เจ๊ตุ้มหรือใช้ Loginใน Pantip.com ว่า ตุ้ม แม็คคาร์ทนี่ย์ (Toom McCartney )ส่วน “ขับมาแล้ว เลยอยากให้รู้” นั้นก็มาจากหนุ่มน้อย ดีบุก ผสมผสานกันทั้งไทยและฝรั่งก็ไปกันได้ด้วยดี ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้นะคะ



ส่วนฉันจะเป็นผู้เรียบเรียงข้อความจากผู้ใช้รถไปสู่ท่านผู้อ่านนะคะ

รถคันที่จะพูดถึงในวันนี้ก็คือ Ford Focus Benzine เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี. 4 สูบ 16 วาล์ว โอเวอร์เฮดแคมชาร์ฟ 145 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ ใช้งานมาแล้ว 4 ปี วิ่งไปแล้ว 190,000 กม.



เจ้าของรถคือ คุณธนวัฒน์ บุญสิต อายุไม่ได้ถามค่ะ แต่ยังวัยรุ่นอยู่เลย คุณธนวัฒน์เล่าให้ฟังว่า

ก่อนที่จะเลือกรถคันนี้ ตอนแรกได้ไปลอง Honda Civic ก่อน เขามีรถให้ลอง แต่ต้องรอสองเดือนถึงจะได้รถ ก็เลยไม่อยากรอ



ออกจากโชว์รูมแห่งนั้น แล้วก็ขับรถผ่านโชว์รูม Ford ก็เข้าไปลอง Ford Focus ได้ลองแล้วรู้สึกประทับใจในเรื่องช่วงล่างรู้สึกเกาะถนนดี และอีกอย่างก็คือ สามารถใช้รีโมทกดเปิดและปิดกระจกจากนอกตัวรถได้ ถ้าลืมปิดกระจก ก็กดปิดจากด้านนอกได้เลย



ไม่ต้องเข้าไปในรถแล้วบิดกุญแจไปที่ On ก็เลยวางเงินจองทันที ได้รถภายในหนึ่งอาทิตย์ ก็พอใจ

รถคันที่เลือก เป็นรถ 5 ประตู เพราะใส่ของได้เยอะ คุณธนวัฒน์ทำธุรกิจส่วนตัว และงานอดิเรกที่เป็นที่โปรดปรานมากก็คือการขับรถเดินทางท่องเที่ยวทั่วไทย

ราคารถที่ซื้อในตอนนั้น 989,000 บาท รถคันนี้ใช้น้ำมัน E 20 ได้ แต่ตอนที่ซื้อนโยบายที่รัฐบาลประกาศลดภาษีสำหรับรถ E 20 ยังไม่ออกมา เลยต้องซื้อในราคาที่ไม่ได้ลด ของแถมที่ได้มาก็คือ ประกันภัยชั้นหนึ่ง พรมและอีกหลายอย่างลืมไปแล้ว



รับประกันการใช้งาน 100,000 กม.หรือรับประกัน 3 ปี อยู่ที่ว่าอันไหนถึงก่อนกัน แบตเตอรี่รับประกัน 6 เดือนหรือ 20,000 กม.

ช่วงที่อยู่ในระยะรับประกัน ก็ตรวจเช็คตามระยะที่กำหนด คือเข้าศูนย์บริการทุก 15,000 กม.ก็เข้าไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนกรองอากาศทุก 45,000 กม. เปลี่ยนหัวเทียนทุก 60,000 กม. เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ ตอน 90,000 กม. และครั้งหลังสุดเมื่อ 180,000 กม.



ช่วงอยู่ในระยะรับประกันก็มีปัญหาที่เพลาขับกับลูกปืนล้อ แต่ทางศูนย์บริการก็เคลมให้



หลังหมดระยะรับประกันแล้ว ที่ทำก็มี 2 รายการ คือเปลี่ยนปีกนกคู่หน้าที่ 130,000 กม.และเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์แอร์ ที่ 150,000 กม.

ยางเปลี่ยนมาแล้ว 4 ชุด จะเปลี่ยนยางทุก 50,000 กม. ใช้ยาง โยโกฮาม่า ขนาด 205 /55 R 16 เติมลมยาง30 ปอนด์ แม็ก

ขนาด16 นิ้ว

แบตเตอรี่ตอนนี้เปลี่ยนลูกที่สองแล้ว แบตเตอรี่ใช้ได้ลูกละ 2 ปี

รถคันนี้ใช้โซ่ราวลิ้น จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเริ่มมีเสียงแก๊กๆจากส่วนหน้า แต่ตอนนี้ยังไม่มีอาการ

ศูนย์บริการที่ใช้คือศูนย์ฟอร์ดนิวเอร่า ลาดพร้าว ศูนย์ดูแลดี แต่สถานที่คับแคบไปหน่อย ต้องโทรเข้าไปนัดก่อนที่จะเข้าไป แต่ถ้ามีเหตุฉุกเฉินก็สามารถเข้าไปได้เลย

กินน้ำมันประมาณ 13-14 กม./ ลิตร ที่ความเร็วเฉลี่ย 120-140 กม/ชม. รถคันนี้ใช้ E 20 ได้ แต่คุณธนวัฒน์ไม่เคยลองใช้ กำลังว่าจะลอง ว่าจะอยู่นั่นแหละ ใช้แต่แก๊สโซฮอลล์ E 10 การเติมน้ำมันก็ใช้ปั๊มทั่วไปถ้าออกต่างจังหวัด แต่ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ก็จะเติมที่ปั๊มบางจาก เหตุผลก็คือเจ้าของรถ มีบัตร บางจากแก๊สโซฮอลล์คลับได้ซื้อไว้ด้วยราคา บัตรใบละ 100 บาท ระยะเวลา 3 ปี

สิทธิประโยชน์ก็คือถ้ารถเสียให้สิทธิ์ยกรถปีละ 1 ครั้ง ตามช่างให้ถ้ารถเสีย นอกจากนั้นยังได้ส่วนลดน้ำมันลิตรละ 20 สตางค์ คือเติม 1 ลิตรได้ 1 point ครบ 500 points ได้ส่วนลด 100 บาท

ที่นั่งด้านหน้านั่งสบาย โอบกระชับ



แต่ที่นั่งเบาะหลังนั่งไกลๆจะเมื่อยถ้านั่ง 3 คน นั่ง 2 คนไม่มีปัญหา เบาะหลังค่อนข้างตั้งตรงไปหน่อย

มีแอร์เบาะหลังให้ด้วย

ที่เก็บของกว้างสามารถพับเบาะได้ 60 / 40

ฝากระโปรงเวลาจะเปิดมีกุญแจไขตรงโลโก้ฟอร์ดด้านหน้า เก๋ไก๋ทีเดียว

คุณธนวัฒน์เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ให้คู่มือรถเหงา จะเปิดคุ่มือดูประกอบการใช้รถ และก็มีความสุขกับการใช้รถคันนี้มากๆค่ะ

-----------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณ คุณธนวัฒน์ บุญสิต ผู้เอื้อเฟื้อข้อมูล

Thunyaluk@caronline.net